วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ

บทนำ
รหัสวิชา 3000-1601
จำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาคทฤษฎี 1 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 0 ชั่วโมง
จำนวนหน่วยกิต 1 หน่วยกิต
คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับ ความสำคัญของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ประเภทของข้อมูลสารสนเทศรูปแบบต่าง ๆ เครื่องมือและวิธีการใช้เครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ การเลือกใช้และรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ และการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้า
จุดประสงค์รายวิชา
1.เพื่อให้เข้าใจความสำคัญของห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ ข้อมูลสารสนเทศ และหลักในการค้นคว้า และสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ
2.สืบค้นข้อมูลสารสนเทศโดยใช้เครื่องมือช่วยค้นในรูปแบบต่าง ๆ
3.เพื่อให้สามารถเลือก รวบรวม และนำเสนอข้อมูลสารสนเทศในรูปแบต่าง ๆ
4.เพื่อให้มีเจตคติและกิจนิสัยที่ดีในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเอง มีความรับผิดชอบ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สนใจใฝ่รู้ ซื่อสัตย์ และมีวินัย
มาตรฐานรายวิชา
1.เข้าใจหลักการค้นคว้า และสืบค้นข้อมูลสารสนเทศจากห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
2.เลือก และใช้เครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระความรู้อื่น ๆ และเรียนรู้อย่างไร้พรมแดน
3.เลือก และบันทึกข้อมูลสารสนเทศได้ตรงตามความต้องการ
4.นำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีระบบ
บทที่ 1 ห้องสมุดและการใช้ห้องสมุดบทที่
2 วัสดุห้องสมุด
บทที่ 1 ห้องสมุดและการใช้ห้องสมุด
ความสำคัญของห้องสมุด
1. ห้องสมุดเป็นสถานที่เพื่อสงวนรักษา และถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ห้องสมุดเป็นแหล่งสะสมวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เริ่มตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่มีแหล่งค้นคว้าประเภทห้องสมุดเป็นศูนย์กลางแล้ว ความรู้ต่างๆ อาจสูญหายหรือกระจัดกระจายไป ตามที่ต่าง ๆ ยากแก่คนรุ่นหลังจะติดตาม
2. ห้องสมุด เป็นสถานที่รวบรวม ความรู้ ความคิด ทักษะ ประสบการณ์ทั้งหลายของมนุษยชาติเอาไว้ ความรู้ที่มนุษย์ได้ค้นพบหรือ ที่คิดขึ้นใหม่จะได้รับการบันทึก เก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบต่าง ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็คือหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ในปัจจุบันมีการรวบรวมสารนิเทศบางเรื่อง บางด้านลงในแผ่นดิสก์ ห้องสมุดมีหน้าที่ จัดหาทรัพยากรสารนิเทศเหล่านี้มาไว้ พร้อมทั้งมีวิธีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ใช
3. ห้องสมุด เป็นสถานที่ที่ นักศึกษาสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างเสรีตามความสนใจ การเรียนในชั้นเรียน หรือห้องเรียนนั้น นักศึกษานักศึกษาบางคนอาจชอบหรือไม่ชอบบางวิชา บางวิชาที่ชอบก็อยากเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง ซึ่งครูผู้สอนบางท่านก็สอนจำกัดอยู่ในเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรกำหนด กรณีนี้หากผู้เรียนนั้นต้องการความรู้เพิ่มเติมที่นอกเหนือจากที่ครูสอนก็สามารถไปค้นหาได้จากห้องสมุด ส่วนผู้เรียนบางคนที่สนใจเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือไปจากหลักสูตรที่ตนเรียน ก็สามารถสืบค้นได้ตามความต้องการ
4. ห้องสมุดเป็นสถานที่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ห้องสมุดจะช่วยให้บุคคลสนใจในการอ่าน และรักการอ่านจนเป็นนิสัย การได้พบได้เห็นและได้อ่านในสิ่งที่ตนเองรักและชอบ จะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว
5. ห้องสมุด เป็นสถานที่ ที่ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห้องสมุดเป็นสถานที่รวบรวมสารสนเทศทุกประเภท เพื่อบริการแก่ผู้ใช้ ตามความสนใจ จะอ่านเพื่อฆ่าเวลา อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน หรืออ่านเพื่อสาระบันเทิงได้ทั้งสิ้น นับว่าเป็นการพักผ่อนอย่างมี ความหมายและให้ประโยชน์
6. ห้องสมุด เป็นสถานที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ห้องสมุดเป็นสาธารณะสมบัติมีส่วนส่งเสริมให้บุคคลรู้จักสิทธิ และหน้าที่ ของพลเมือง กล่าวคือเมื่อมีสิทธิในการใช้ก็ย่อมมีสิทธิในการบำรุงรักษาร่วมกัน และให้ความร่วมมือกับห้องสมุด ด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบแผนของห้องสมุด
7. ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยทั่วไปห้องสมุดมีหน้าที่จัดหาทรัพยากรสารนิเทศใหม่ ๆ เข้ามาบริการให้แก่ผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา ทรัพยากรสารนิเทศบางชนิด จะมีการนำเสนอสารนิเทศ ข่าวสาร ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่เพิ่งมีการค้นพบ ทรัพยากรสารนิเทศดังกล่าวคือ วารสาร หนังสือพิมพ์ ามสำคัญของห้องสมุด
ประเภทของห้องสมุด
ประเภทของห้องสมุด ที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น มีหลายประเภท แต่ที่รู้จักกันแพร่หลาย
แบ่งเป็น 5 ประเภท โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์และลักษณะของห้องสมุดนั้น ๆ ซึ่งมีรายละเอียด
ดังนี้
1. หอสมุดแห่งชาติ (National Libraries) เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า ที่สำคัญระดับชาติ นานาประเทศต่างมีหอสมุดแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางของการศึกษา หาความรู้และเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นอารยะของชาติ และให้บริการความรู้ แก่ประชาชนทั่วหน้าโดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา และพื้นฐานความรู้หอสมุดแห่งชาติประจำประเทศไทยเดิมมีชื่อว่า "หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร " ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 โดยนำเอาหอพระสมุด 3 แห่งมารวมกันคือ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธศาสนสังคหะช่วง 10 ปีแรก "หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายออกมาตั้งอยู่ที่ตึกริมถนนหน้าพระธาตุ ฝั่งตะวันตกของท้องสนามหลวง ปี พ.ศ. 2505-2509 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้อนุมัติให้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ ของหอสมุดแห่งชาติหลังใหม่ ณ ท่าวาสุกรี สี่เสาเทเวศร์ ถนนสามเสน สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติ ได้มีการขยายสาขา ออกไปยังส่วนภูมิภาค และที่ต่าง ๆ หลายแห่งดังนี้ หอสมุดแห่งชาติสาขาอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี (เปิดบริการ พ.ศ. 2515) หอสมุดแห่งชาติสาขาลำพูน (เปิดบริการ พ.ศ. 2521) หอสมุดแห่งชาติสาขาสงขลา(เปิดบริการ พ.ศ. 2525) หอสมุดแห่งชาติสาขาชลบุรี (เปิดบริการ พ.ศ. 2526) หอสมุดแห่งชาติสาขานครราชสีมา (เปิดบริการ พ.ศ.2530) หอสมุดแห่งชาติสาขาเชียงใหม่ (เปิดบริการ พ.ศ. 2532) เป็นต้นหอสมุดแห่งชาติมีบทบาทหน้าที่ดังนี้
1. ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมวรรณกรรมของชาติทุกรูปแบบ ได้แก่วรรณกรรมต้นฉบับตัวเขียน ตัวพิมพ์ และบันทึกในรูปของสื่อโสตทัศน์ทุกประเภท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของแหล่งความรู้ระดับชาติ
2. ทำหน้าที่สงวนรักษา สื่อความรู้ความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะของคนในชาติทั้งนี้เพราะสื่อความรู้ ความคิด ของชนในชาติใด ย่อมเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ของชาตินั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะสงวนรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติ
3. ทำหน้าที่เป็นศูนย์บรรณานุกรมแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญและเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้า
4. ทำหน้าที่เผยแพร่ บริการสารสนเทศ ที่ได้รวบรวมไว้ให้เป็นที่แพร่หลายด้วยการจัดบริการในลักษณะต่างๆ
2. ห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (University Libraries or Academic Libraries) เป็นห้องสมุดที่จัดตั้ง ในสถานศึกษาที่เปิดสอนตั้งแต่ ระดับอนุปริญญา ถึงระดับปริญญา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา จัดเป็นห้องสมุดประเภทนี้เพื่อรวบรวมความรู้ต่าง ๆ ตามหลักสูตรที่สถาบันการศึกษานั้นเปิดสอนและเป็นแหล่งความรู้แก่นักศึกษาและครู อาจารย์และเพื่อประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้า และวิจัย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างห้องสมุดระดับอุดมศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
2.1 สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น ห้องสมุดอิเล็คทรอนิคส์ที่สมบูรณ์แห่งแรกของประเทศไทย มีการเชื่อมโยงห้องสมุดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่หอสมุดกลาง หอเอกสารแห่งประเทศไทย หน่วยโสตทัศนศึกษากลาง ห้องสมุดคณะทุกคณะและห้องสมุดของสถาบันต่าง ๆ เข้าเป็นเครือข่ายเดียวกันชื่อ “จุฬาลิเน็ต” หรือ “CHULA-LINET” ซึ่งผู้ใช้สามารถสืบค้นสารนิเทศ ของทั้งมหาวิทยาลัยได้ จากห้องสมุดแห่งหนึ่งแห่งใด ในเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สถาบันวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเป็นเกตเวย์(gateway) เพื่อออกสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (The Internet, INTERNET) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสารนิเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นแห่งแรกของไทย
2.2 สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยหอสมุดกลางห้องสมุดคณะทุกคณะ และห้องสมุดของสำนักและสถาบันต่าง ๆ เช่น สำนักบัณฑิตอาสาสมัครสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันไทยคดีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและห้องสมุดวิทยาเขตรังสิต สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นห้องสมุด ที่ให้บริการสารนิเทศด้านสังคมศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะสาขาเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย
2.3 สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นแหล่งรวบรวมและผลิตฐานข้อมูลทางด้านการเกษตรและมีศูนย์สารนิเทศทางการเกษตรแห่งชาติซึ่งเข้าร่วมกับโครงการของธนาคารข้อสนเทศทางการเกษตรสำหรับเอเชีย (Agricultural Information Bank Asia, AIBA) สั่งข้อมูลไปยังศูนย์สากลเพื่อร่วมกับ ระบบสารสนเทศทางการเกษตรและเทคโนโลยีนานาชาติ (International Information System for the Agricultural Science and Technology, AGRIS) นอกจากนี้ ยังมีศูนย์สารสนเทศนานาชาติ(International Buffalo Information Center,IBIC) ผลิตฐานข้อมูลทางกระบือ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศ
2.4 สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วยหอสมุดกลาง และห้องสมุดคณะวิชาต่าง ๆ ฝ่ายโสตทัศนศึกษา ฝ่ายผลิตเอกสาร และฝ่ายศูนย์หนังสือ ซึ่งเตรียมให้บริการบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยและเป็นสถาบันสารนิเทศ ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือบทบาทและหน้าที่ของห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย มี 3 ประการ ดังนี้
1. มีหน้าที่เพื่อการศึกษาและการวิจัย ทุกสาขาวิชา
2. มีหน้าที่เก็บรักษาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี
3. มีหน้าที่บริการชุมชน เช่นบริการการอ่าน บริการให้การศึกษาค้นคว้าและบริการเผยแพร่ความรู้แก่ชุมชน
3. ห้องสมุดประชาชน (Public Libraries) ห้องสมุดประชาชนเป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการในด้านสิ่งพิมพ์และโสตทัศนวัสดุแก่ประชาชนโดยไม่จำกัดเพศ วัย ระดับความรู้ เชื้อชาติ และศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ของชุมชนแต่ละแห่ง และทั้งช่วยยกระดับชีวิต สติปัญญาและความรับผิดชอบ ห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่ ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นต้นว่า ห้องสมุดประจำจังหวัด ห้องสมุดประจำอำเภอต่าง ๆ สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดประชาชนบางแห่ง ในประเทศไทย ได้รับความช่วยเหลือจากเทศบาล เอกชน องค์การต่างประเทศ เช่น ห้องสมุดประชาชนธนาคารศรีนคร ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี และห้องสมุดบริติสเคาน์ซิล
วัตถุประสงค์การดำเนินงานห้องสมุดประชาชน
1. เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน
2. เป็นศูนย์รับบริจาคหนังสือ
3. ให้บริการการอ่านและการให้ยืมหนังสือแก่ประชาชน
4. ให้บริการข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเป็นคนทันต่อเหตุการณ์
5. ให้บริการทางโสตทัศนูปกรณ์แก่ประชาชน
6. ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และการพักผ่อนหย่อนใจ
7. ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
8. ส่งเสริม เผยแพร่ ประสานงานให้บริการด้านวิชาการใหม่ ๆ แก่ชุมชนและการจัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านสำหรับห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยนั้น
สภาพทั่วไปยังไม่ดีเท่าที่ควร จากการวิจัยของ พัชรินทร์ ขันทอง (2519) เรื่องความคิดเห็นของประชาชนต่อบริการ ห้องสมุดประชาชนระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในภาคใต้ของประเทศไทยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นสภาพห้องสมุด วัสดุครุภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมห้องสมุด มีความเหมาะสมระดับปานกลาง ผู้ตอบส่วนใหญ่ ต้องการให้ห้องสมุด จัดหนังสือเข้าห้องสมุดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และจัดบริการต่าง ๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น และงานวิจัยของ บุญเกื้อ หลงสวาสดิ์(2519) เรื่องสภาพ และเกณฑ์ปกติของห้องสมุดประชาชนจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งเขตการศึกษาโดยสอบถามจากศึกษาธิการจังหวัด ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของห้องสมุดประชาชนพบว่า ห้องสมุดประชาชนควรทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
2. ให้การศึกษานอกโรงเรียนแก่ประชาชน
3. ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
4. ให้ความเสมอภาคทางการศึกษา
5. ส่งเสริมและให้การศึกษาตลอดชีวิต
6. ช่วยขจัดปัญหาการลืมหนังสือของประชาชน
การที่ห้องสมุดประชาชนของไทย ไม่สามารถพัฒนาถึงระดับมาตรฐานได้ เพราะว่าขาดแคลนงบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านบรรณารักษ์โดยตรง รวมทั้งขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีห้องสมุดประชาชนอยู่ 9 แห่ง ในขณะนี้คือ ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี ถนนราชดำริห้องสมุดประชาชนซอยพระนาง ถนนราชวิถี ห้องสมุดประชาชนปทุมวัน ถนนพระราม 1 ห้องสมุดประชาชนอนงคาราม ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ห้องสมุดประชาชนวัดสังข์กระจายถนนอิสรภาพ ห้องสมุดประชาชนบางเขน ตั้งอยู่ที่ทำการบางเขน ห้องสมุดประชาชนวัดราชโอรสาราม บางขุนเทียน ห้องสมุดประชาชนวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร จรัญสนิทวงศ์ 35ห้องสมุดประชาชนพระโขนง ถนนศรีนคริทร์ ห้องสมุดเหล่านี้ สังกัดอยู่กับงานห้องสมุดประชาชน กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร สำหรับห้องสมุดประชาชนในต่างจังหวัดนั้น อยู่ในความดูแลของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งมีทั้งห้องสมุดประชาชนระดับจังหวัด ห้องสมุดระดับอำเภอ นอกนั้นจะเป็นที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน สำหรับในวโรกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 3 รอบ ทางกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้รณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างหอสมุดเฉลิมราชกุมารีจำนวน 37 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
บทบาทและหน้าที่ของห้องสมุดประชาชน มี 3 ประเภท คือ
1. หน้าที่ทางการศึกษา ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งให้การศึกษานอกระบบโรงเรียนมีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปทุกระดับการศึกษา
2. หน้าที่ทางวัฒนธรรม ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งสะสมมรดกทางปัญญาของมนุษย์ ที่ถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ห้องสมุดตั้งอยู่
3. หน้าที่ทางสังคม ห้องสมุดประชาชน เป็นสถาบันสังคม ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และท้องถิ่นมาดำเนินกิจการ มีหน้าที่แสวงหาข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ มาบริการประชาชน
4. ห้องสมุดเฉพาะ (Special Libraries) เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้น ในหน่วยงาน รัฐบาล สถาบัน บริษัท สมาคม องค์การระหว่างประเทศ และอื่น ๆ ให้บริการสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง และให้บริการแก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่มที่เป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้น บริหารและดำเนินการโดย บรรณารักษ์ และนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะสาขาวิชา ห้องสมุดเฉพาะที่น่าสนใจในประเทศไทย มีดังนี้
4.1 ห้องสมุดของคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง
4.2 ห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม ตู้ ปณ.154 กทม. บริหารเงินงบประมาณ การบัญชี
4.3 ห้องสมุดศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา ตั้งอยู่ที่ 928 ถนนสุขุมวิท ใกล้สถานีขนส่งเอกมัย กทม. 10110 มีสารนิเทศเฉพาะด้านในสาขา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะการออกแบบ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์
4.4 ห้องสมุดและศูนย์สนเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชั้น 11 อาคารองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กทม. 10200 มีสารนิเทศเฉพาะด้านในสาขาอุตสาหกรรมสัมพันธ์ กฎหมายแรงงาน การว่าจ้างแรงงาน สภาพการทำงาน การฝึกวิชาชีพ แรงงานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาสังคม การพัฒนาชนบท การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เยาวชนและสตรี การพัฒนาการจัดการ การค้าและการอุตสาหกรรม
4.5 ห้องสมุด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เอกมัย กรุงเทพฯ. 10110 มีสารนิเทศเฉพาะด้านในสาขา วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ การศึกษาการเกษตร คหกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ศิลปะเชิงพาณิชย์
4.6 ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตึกกสิกรรม ชั้น 3 บางเขน กทม.10900 มีสิ่งที่น่าสนใจ สารนิเทศเฉพาะด้านใน สาขาการเกษตร การวิจัยเกี่ยวกับพืช
ห้องสมุดเฉพาะมีลักษณะแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปหลายประการ ที่สำคัญ คือเน้นการให้บริการเพื่อความรู้และการวิจัยเด่นชัดกว่าห้องสมุดประเภทอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีหน้าที่จัดหาข่าวสารข้อมูลที่มีเนื้อหาทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ และนักวิจัยในสาขานั้น
5. ห้องสมุดโรงเรียน (School Libraries) ได้แก่ ห้องสมุดของโรงเรียน ตั้งแต่ ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ทั้งของรัฐบาลและเอกชน จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตร ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดทั้ง สนองความต้องการของนักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชน นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ให้แก่นักศึกษา เพื่อเป็นรากฐานการใช้ห้องสมุดอื่น ๆ ต่อไปอีก ห้องสมุดโรงเรียน เช่น ห้องสมุดโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนสีคิ้ว”สวัสดิ์ผดุงวิทยา” เป็นต้น
บรรณารักษ์หรือผู้เชี่ยวชาญ สื่อในห้องสมุดโรงเรียนนั้น จะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะครูใน โรงเรียน เพื่อร่วมมือกันช่วยนักศึกษา ให้รู้จักใช้ประโยชน์จากห้องสมุดอย่างเต็มที่ช่วยพัฒนาการอ่าน และนิสัยในการศึกษาค้นคว้า ให้งอกงามถึงขีดสุด บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดโรงเรียนนอกจากจะต้องมีความรู้ด้านบรรณารักษ์ศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์แล้ว ยังต้องมีความรู้ในด้านหลักสูตรวิชาการที่มีเรียนมีสอนในโรงเรียน ตลอดจนวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา เช่น จิตวิทยา การแนะแนวการวัดผล อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของห้องสมุดโรงเรียน
1. เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนการสอนตามหลักสูตร ให้มีประสิทธิภาพสามารถสนองความต้องการของครูและนักศึกษาได้
2. เพื่อช่วยให้นักศึกษาและครูเลือกหนังสือและวัสดุอื่น ๆ ได้ตรงกับความต้องการโดยสอดคล้อง กับหลักสูตร
3. เพื่อให้นักศึกษาสามารถหาความรู้ในเรื่องราวต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเพิ่มพูนความสนใจความรู้ และรู้จักแสวงหาความรู้จากวิทยาการใหม่ ๆ
4. เพื่อจัดประสบการณ์การใช้ห้องสมุดให้นักศึกษา ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาความสนใจและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้
5. เพื่อช่วยให้นักศึกษามีทักษะในการใช้ห้องสมุด ตลอดจนวัสดุสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
6. เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสนใจในการอ่าน มีนิสัยรักการอ่านอาจพัฒนาการอ่านของตนให้สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ได้อย่างลึกซึ้ง
7. เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดทักษะในการใช้หนังสือ จนสามารถทำงานกับครูในการเลือกและใช้ อุปกรณ์ทุกชิ้นในห้องสมุดให้เกิดประโยชน์
8. เพื่อเป็นแนวทางให้นักศึกษาใช้ความรู้เบื้องต้นก้าวไปสู่การใช้ห้องสมุดประเภทอื่น ๆ
9. เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจในชั่วโมงว่าง ห้องสมุดโรงเรียน จะจัดหาสิ่งพิมพ์ประเภทเบาสมอง สนุกขบขัน และให้ความรู้ทั่ว ๆ ไป ไว้บริการ การจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษานั้น ได้ยอมรับกันแล้วว่าห้องสมุดเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง บางแห่งจัดห้องสมุด เป็นศูนย์ของสื่อการเรียนการสอนอย่างกว้างขวาง รวบรวมวัสดุทุกชนิดนับแต่ หนังสือ วารสาร จุลสาร แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง แผนที่ ภาพยนตร์ ภาพวาด วัตถุจำลอง ของจริงและแม้กระทั่ง คอมพิวเตอร์ไว้ให้นักศึกษา ได้ใช้สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ปัจจุบันในต่างประเทศ จึงมีคำเรียกชื่อห้องสมุดใหม่ว่า Instructional Material Center บ้าง Learning Resources Center บ้างหรือ Media Center บ้างและผู้ที่ทำงานในห้องสมุดที่เคยเรียกว่า บรรณารักษ์ (librarians) ก็เปลี่ยนมาเรียกเป็นผู้เชี่ยวชาญสื่อ (Media speciallists)
บทบาทและหน้าที่ของห้องสมุดโรงเรียนมี3 ประการ ดังนี้
1. เป็นศูนย์กลางของการศึกษาค้นคว้าของการเรียน
2. เป็นศูนย์กลางฝึกวิจารณญาณในการอ่านมีบรรณารักษ์ทำหน้าที่แนะนำการอ่าน
3. เป็นศูนย์กลางอุปกรณ์การสอนนอกจากการส่งเสริมการเรียนของนักศึกษาแล้วยังส่งเสริมการสอนของครูด้วย
บริการของห้องสมุด
ห้องสมุดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา มีงานบริการ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้มากที่สุด ถ้าผู้ให้บริการขาดความรู้ และไม่มีหัวใจในการให้บริการแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้การลงทุนที่เป็นค่า อาคาร วัสดุ ครุภัณฑ์ สูญเปล่าเท่านั้น แต่อาจทำให้บั่นทอนผู้ใช้บริการไปด้วย
ดังนั้นห้องสมุดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา จึงได้นำวิธีการให้บริการพื้นฐาน เช่นเดียวกับห้องสมุดทั่วไปมาใช้ ส่วนบริการพิเศษนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้และความพร้อมของห้องสมุด
1. บริการพื้นฐานได้แก่
1.1 บริการ ยืม-คืน วัสดุห้องสมุดหรือทรัพยากรสารนิเทศรวมทั้งติดตามทวงถามเมื่อผู้ใช้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
1.2 บริการหนังสือสำรองหรือหนังสือสงวน (Reserve book ) งานส่วนนี้ปกติจะให้บริการแก่ผู้สอน จัดหาหนังสือจากชั้นเปิด มาเก็บในเคาน์เตอร์ ตามรายชื่อที่ผู้สอนกำหนด เพื่อนำมาให้บริการแก่ผู้เรียนหมุนเวียนกันอย่างทั่วถึง เนื่องจากหนังสือมีไม่เพียงพอ จึงกำหนดให้ยืมจำกัดทั้งจำนวนเล่มและจำนวนวัน เช่น ยืมได้ครั้งละ 2 ชื่อเรื่อง เวลาในการยืม 1 วัน
1.3 บริการสอน หรือแนะนำการใช้ห้องสมุด งานส่วนนี้อาจทำเป็นประจำเมื่อมีการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ หรือมีผู้เข้าใช้ห้องสมุดเป็นกลุ่ม ๆ หรือจัดนิทรรศการ หรือจัดทำจุลสารแนะนำการใช้ห้องสมุด
2. บริการพิเศษ มีงานหลายชนิด นอกเหนือจากบริการพื้นฐาน ที่ห้องสมุดใหญ่ ๆ โดยเฉพาะห้องสมุดระดับอุดมศึกษา หรือหน่วยงานระดับสูงจัดบริการ ซึ่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา มีบริการไม่ครบทุกข้อ ได้แก่
2.1 บริการยืมระหว่างห้องสมุด (Interlibrary loan) เป็นความร่วมมือ ของห้องสมุดสถาบันการศึกษา ที่ตกลงกันจะให้บุคลากรของแต่ละสถาบัน ได้ใช้วัสดุสารนิเทศข้ามสถาบันได้ โดยยืมผ่านห้องสมุดสถาบันที่ตนสังกัด ทั้งนี้เนื่องจากห้องสมุดแต่ละแห่งจะมีจำนวนหนังสือและรายการหนังสือที่มีอยู่แตกต่างกัน จึงสามารถแลกเปลี่ยนหรือยืมกันได้ บริการนี้ห้องสมุดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ไม่มี
2.2 บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า (Reference Services) บริการนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในสื่อทุกชนิด ของห้องสมุดได้อย่างรวดเร็ว ผู้ใช้สามารถสอบถามที่โต๊ะให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่ ประจำห้องสมุด
2.3 บริการข่าวสารทันสมัย (Current Awareness Service) เป็นบริการที่จะช่วยแนะนำข่าวสารข้อมูล วิทยาการใหม่ ๆ โดยถ่ายสำเนาสารบาญวารสาร หรือแจ้งรายชื่อสารนิเทศให้ผู้เข้าใช้ทราบโดยปิดในบอร์ดหน้าห้องสมุดให้ทราบทั่วกัน
2.4 บริการสืบค้นสารนิเทศทางไกล (Internet) ปัจจุบันที่ห้องสมุดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง มีบริการการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นสารนิเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านบริการ ของห้องสมุดที่นักศึกษา กำลังศึกษาอยู่ ทั้งนี้นักศึกษา จะต้องมีความรู้เรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตด้วย
นอกจากงานบริการพิเศษทั้ง4 ประเภทดังกล่าวนี้แล้ว ห้องสมุดบางแห่งอาจจะมีบริการต่าง ๆ อีกเช่น บริการถ่ายเอกสาร บริการรวบรวมบรรณานุกรมและทำสาระสังเขปเป็นต้น
ระเบียบและข้อบังคับการใช้ห้องสมุดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา
กิจกรรมท้ายบท
ให้ผู้เรียนไปศึกษา และสรุปห้องสมุดวิทยาลัยฯ ในหัวข้อต่อไปนี้ แล้วส่งคาบต่อไป
1. ขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิก
2. ระเบียบข้อปฏิบัติการใช้ห้องสมุดของเรา
3. มารยาทการใช้ห้องสมุด